ทานตะวันประชากร NSSF(S)C3
ประวัติ
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ วิจัยปรับปรุงพันธุ์ทานตะวันเพื่อใช้บริโภค มุ่งสร้างและพัฒนาพันธุ์ทานตะวันให้มีเมล็ดขนาดใหญ่ และเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการบริโภค ในปี 2564 ได้ประชากรทานตะวัน NSSF(S)C3 จากการปรับปรุงประชากรโดยวิธีการคัดเลือกหมุนเวียนแบบผสมตัวเองหนี่งครั้ง (S1 recurrent selection) โดยเริ่มจากในปี 2560 ได้นำเข้าเชื้อพันธุกรรมทานตะวันจำนวน 98 พันธุ์/สายพันธุ์ จากธนาคารเชื้อพันธุกรรม USDA ในปี 2561 นำมาขยายเมล็ดพันธุ์ ศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของทานตะวันแต่ละสายพันธุ์ที่นำเข้ามา และสร้างประชากรพื้นฐาน เพื่อใช้เป็นฐานพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ ต่อมาในระหว่างปี 2562-2564 ปรับปรุงประชากร โดยใช้วิธีการคัดเลือกหมุนเวียนแบบผสมตัวเองหนี่งครั้ง (S1 recurrent selection) ซึ่งใน 1 รอบคัดเลือก ใช้เวลา 3 ฤดู คือ ผสมตัวเอง จากนั้นทดสอบสายพันธุ์ผสมตัวเอง (S1) และนําสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาผสมรวมกัน (recombination)
ลักษณะเด่น
- เมล็ดขนาดใหญ่ โดยมีความยาวมากกว่า 2 เซนติเมตร
- ปริมาณน้ำมันในเมล็ดเฉลี่ยประมาณ 28.81 เปอร์เซ็นต์
- ดอกขนาดใหญ่ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 18 เซนติเมตร รูปร่างจานดอกกลม ไม่บิดเบี้ยว
- ความสูงต้น อยู่ระหว่าง 150-160 เซนติเมตร
- อายุการเก็บเกี่ยว 117-120 วัน