กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ

        จากงานวิจัยของ ดร. วรารัตน์ ศรีประพัฒน์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ ผศ. ดร. ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร และ รศ. ดร. ไพทิพย์ ธีเรเวชญาณ ห้องปฏิบัติการ Remediation มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาเครื่องกรองชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในการบำบัดฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนในอากาศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) พบว่ามีต้นไม้หลายชนิด ที่สามารถช่วยดูดซับสารพิษจากอากาศ ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ ซึ่งในงานวิจัยได้คัดเลือกพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกได้ทั้งในบ้านได้และนอกบ้าน และเป็นต้นไม้พื้นถิ่นในเขตร้อนที่สามารถปลูกได้ดี ในเมืองไทย เพื่อนำมาทดสอบประสิทธิภาพการบำบัดฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่ามีพืชที่สามารถบำบัดฝุ่นละอองในอากาศได้ดี ได้แก่ พรมกำมะหยี่ เฟินขนนก คล้าแววมยุรา พลูปีกนก พลูอินโด กวักมรกต คล้ากาเหว่าลาย และคล้านกยูง โดยลักษณะพืชที่สามารถบำบัดฝุ่นละอองได้ดีใบจะมีลักษณะขรุขระ มีขน มีใบย่อยขนาดเล็ก และมีลักษณะผิวใบมันเคลือบด้วยแว๊กซ์