ประชุมเตรียมการรับมือฤดูกาลผลิตลำไยภาคตะวันออก 2565/66

           วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร เป็นประธานการประชุมเตรียมการรับมือฤดูกาลผลิตลำไยภาคตะวันออก 2565/66 ณ ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ สวพ.6 และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom meeting โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย สวพ.6 ศวพ.ปราจีนบุรี ด่านตรวจพืชจันทบุรี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี สระแก้ว สำนักงานเกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี จัดหางานจังหวัดจันทบุรี สำนักงาน ธกส.จังหวัดจันทบุรี และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี สมาคมการค้าและส่งออกลำไยภาคตะวันออก สหกรณ์ในพื้นที่ อำเภอสอยดาว และโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ผู้แทนผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไย บริษัท นิรันดร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ไชน่า จิงกว่อหยวน อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด บ. LK (ล้งเฮียฮง-เจ๊แดง) บริษัท ซัคเซส อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด

           สืบเนื่องจากฤดูกาลผลิตลำไยภาคตะวันออก ปี 2564 ที่ผ่านมาต้องประสบปัญหา อุปสรรคหลายประการ ทั้งความเข้มงวดของทางการจีน ในมาตรการ Zero-Covid เพลี้ยแป้งและสารพิษตกค้าง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนลำไยภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก และคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งออกลำไยภาคตะวันออก ในปี 2565/2566 เพื่อชี้แจงให้ทุกฝ่าย ได้รับทราบสถานการณ์การผลิตและส่งออกลำไยภาคตะวันออกฤดูกาลผลิต 2565/66 และพิจารณาร่วมกันในการเตรียมการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องได้แก่
            1) มาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุลำไย ตามแนวทาง GMP Plus ของกรมวิชาการเกษตร
            2) แนวทางการพัฒนาคุณภาพลำไย โดย สวพ.6 ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร และเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ จัดหลักสูตรฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร เพื่อพัฒนาการผลิตลำไยให้มีคุณภาพเพื่อการส่งออก
           3) แนวทางแก้ไขปัญหาปัจจัยการผลิตราคาสูง โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี และสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี ร่วมบรรเทาปัญหาปัจจัยการผลิตลำไยราคา โดยใช้กลไกสหกรณ์ประชาสัมพันธ์ให้ชาวสวนเข้าถึงโครงการลดราคาปัจจัยการผลิตของกรมการค้าภายใน รวมทั้งนำเอาหัวข้อการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อบรรจุในหลักสูตรการฝึกอบรมเกษตรกรด้วย
           4) แนวทางแก้ไขปัญหาการซื้อ-ขายลำไยที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีแนวทางข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสมาคมชาวสวนลำไย โดยเบื้องต้นให้แยกซื้อระหว่างเบอร์ 1-3 กับเบอร์4 และลูกร่วง ไม่เหมารวมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพ ซึ่งปีนี้จังหวัดจันทบุรีได้แต่งตั้งคณะทำงานควบคุมการซื้อขายลำไย
          5) แนวทางแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัด ร่วมกับสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา ในรูปแบบเช่นเดียวกับปี 2564 เพื่อลดผลกระทบปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน
          6) การควบคุมเพลี้ยแป้ง ศัตรูพืชกักกัน ในปีนี้จะดำเนินการอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ให้ความรู้และเน้นย้ำมาตรการป้องกันเพลี้ยแป้งลำไยในระดับสวนของเกษตรกร และ สวพ.6 จะร่วมดำเนินการกับด่านตรวจพืชจันทบุรี เข้าดำเนินการสุ่มตรวจสอบศัตรูพืชในโรงคัดบรรจุ ควบคู่ไปกับการตรวจโรงคัดบรรจุตามมาตรการ GMP Plus
        7) การควบคุมการใช้ใบรับรอง GAP ตามนโยบายของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากมีเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ได้การรับรอง GAP ในเขตภาคตะวันออก เป็นจำนวนถึง 19,001 แปลง 15,546 ราย 338,581.18 ไร่ โดยในจำนวนนี้เป็นของจังหวัดจันทบุรี 15,263 แปลง 12,042 ราย 283,257.63 ไร่ จึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีปริมาณผลผลิตลำไยที่ได้รับการรับรอง GAP เพียงพอที่จะส่งออก และลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์การใช้ใบรับรองลงได้อีกประการหนึ่ง
          ทั้งนี้ สวพ.6 และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร โดย ด่านตรวจพืชจันทบุรีและกลุ่มบริการการส่งออกสินค้าเกษตร เตรียมการนัดหมายและเชิญตัวแทนผู้ส่งออก(ชิปปิ้ง) และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ณ สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี ตำบลบ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อประชุมชี้แจงแนวทางการส่งออกลำไย ฤดูกาลผลิต ปี 2565/2566 อันเป็นการเตรียมการเชิงรุกและบูรณาการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการป้องกันปัญหาด้านการส่งออกก่อนเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวลำไยที่ใกล้จะมาถึงนี้