Skip to content
  1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตรเปิดมิติใหม่กำจัดแมลงศัตรูหลังเก็บเ…

กรมวิชาการเกษตรเปิดมิติใหม่กำจัดแมลงศัตรูหลังเก็บเกี่ยว ชงใช้สารรมอีโคฟูมและเวเปอร์ฟอสกำจัด ใช้เวลาน้อย ปลอดภัย ไม่กระทบคุณภาพผลผลิต

กรมวิชาการเกษตรแนะใช้สารรมอีโคฟูม และสารรมเวเปอร์ฟอสกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยว หลังวิจัยพบสารรมทั้ง 2 ชนิดสามารถกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชูจุดเด่น ลดระยะเวลาการรม ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิต มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายกับผลิตผลเกษตรที่เก็บรักษาในโรงเก็บ โดยแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยว จะกัดกินผลิตผลเกษตรส่งผลให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพ นอกจากนี้ แมลงยังปล่อยมูลออกมาทำให้ผลิตผลเกษตรสกปรก หากนำผลิตผลเกษตรเหล่านี้ไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารจะเกิดการปนเปื้อน กรณีที่ประเทศคู่ค้าตรวจพบแมลงหรือเศษชิ้นส่วนของแมลงปนเปื้อนกับผลิตผลเกษตรอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ ดังนั้นการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีความสำคัญอย่างมาก

กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร (กวป.) กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาวิจัยการใช้สารรมอีโคฟูม และสารรมเวเปอร์ฟอส ในการกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยวที่สำคัญชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ด้วงงวงข้าวโพด มอดแป้ง มอดหนวดยาว มอดข้าวเปลือก และมอดฟันเลื่อย สำหรับการรมผลิตผลเกษตรชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวสาร ข้าวเปลือก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จนได้อัตราการใช้
ที่เหมาะสม ในการกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และไม่กระทบต่อคุณภาพผลผลิตเกษตร

โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สารรมอีโคฟูม และสารรมเวเปอร์ฟอส มีจุดเด่น คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ติดไฟ และสามารถนำมาใช้ในการรมผลิตผลเกษตรได้หลายชนิด เช่น ธัญพืช ผลไม้แห้ง ใบยาสูบ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืช  โดยการใช้สารรมทั้ง 2 ชนิด สามารถลดระยะเวลาการรมโดยเพิ่มอัตราการใช้สารรมได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้สารรมฟอสฟีนในรูปของแข็งที่ต้องใช้ระยะเวลาการรมผลิตผลเกษตรนาน 7-14 วัน และไม่สามารถลดระยะเวลาในการรมได้ เนื่องจากการกำหนดความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนภายในกองผลิตผลเกษตรทำได้ยาก

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการติดไฟและการเกิดระเบิดเมื่อใช้สารรมฟอสฟีนในรูปของแข็งในปริมาณมาก ๆ อีกทั้งยังพบปัญหาที่ฟอสฟีนแตกตัวออกมาไม่หมด โดยจะเหลือตกค้างประมาณ 3 – 5% หากไม่มีการกำจัดอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อ ผู้ปฏิบัติงานได้ ดังนั้น การใช้สารรมอีโคฟูม และสารรมเวเปอร์ฟอส ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการทดแทนการใช้สารรมเมทิลโบรไมด์ และสารรมฟอสฟีนในรูปของแข็ง

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร มีแผนที่จะจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เทคนิคการใช้สารรมฟอสฟีน สารรมอีโคฟูม และสารรมเวเปอร์ฟอส เพื่อกำจัดแมลงศัตรูหลังการเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ” ในวันที่ 19 มิถุนายน 2568 สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2579 7813-4 ต่อ 14

Related
แชท