นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2544 เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน การบุกรุกทำลายป่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกพืชเสพติดการเกิดไฟป่าและการล่าสัตว์ตามแนวทางพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่า”
กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมเป็นคณะทำงานวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายและร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาตามภารกิจของหน่วยงานจากการวิเคราะห์พื้นที่พบว่าเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และขาดพืชที่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งเป็นพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรมีลักษณะเด่นให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคราสนิมร่วมกับป่าไม้ธรรมชาติยั่งยืน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ได้จัดฝึกอบรมการผลิตกาแฟอะราบิกาให้เกษตรกรพร้อมกับจัดทำแปลงต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงใหม่ 80 พื้นที่ 1 ไร่ขยายผลสู่แปลงกาแฟเกษตรกรจำนวน 15 ครัวเรือน โดยกระจายพันธุ์กาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงใหม่ 80 สู่เกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 88,000 ต้น ในปี 2560 ได้ผลผลิตกาแฟกะลาปริมาณ 8.4 ตัน และผลผลิตเริ่มคงที่ในปี 2565 ปริมาณ 8.8 ตันเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายกาแฟ 1.3 ล้านบาท/ปี คิดเป็น 86,160บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งเมื่อเทียบในปี 2560 เริ่มโครงการฯ ช่วงแรกเกษตรกรมีรายได้เพียง 60,069 บาท/ครัวเรือน/ปีเท่านั้น หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตกาแฟ 1.4 เท่าจากการพัฒนาการผลิตกาแฟอย่างถูกต้องและมีคุณภาพจากการใช้พันธุ์และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรทุกครัวเรือนมีการปลูกกาแฟเป็นแหล่งรายได้หลัก
นอกจากนี้ได้มีการขยายผลต้นกาแฟพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตกาแฟของกรมวิชาการเกษตรโดยต่อยอดสู่ชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนบ้านปู่หมื่นตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 91 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกกาแฟ 100 ไร่ สร้างรายได้สู่ชุมชนปีละ 3 ล้านบาท และชุมชนบ้านหลายอาย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 81 ครัวเรือนพื้นที่ปลูก 200 ไร่ สร้างรายได้สู่ชุมชนปีละ 6 ล้านบาทจากราคากาแฟกะลาไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2566 ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดและปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ได้เข้าไปให้คำแนะนำเกษตรกรในพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์เชียงใหม่ 80 และใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ตัดแต่งกิ่งที่แห้งไม่ให้ผลผลิตออกตัดฟื้นต้นทรงพุ่มกาแฟออกหมดหรือเกือบหมดทั้งทรงพุ่มตัดโคนต้นให้มีระดับสูงจากผิวดิน 30 – 50 เซนติเมตร หลังจากแตกกิ่งใหม่เลือกกิ่งที่สมบูรณ์แข็งแรงไว้ประมาณ 2 – 3 กิ่ง พร้อมวางกับดักและสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ (เมทิลแอลกอฮอล์ : เอทิลแอลกอฮอล์ อัตราส่วน 1 : 1 อัตรา 5 – 10 จุดต่อไร่) และเติมสารล่อทุก 2 สัปดาห์ หากพบหนอนเจาะกิ่งกาแฟ/หนอนกาแฟสีแดง ให้ตัดกิ่งและลำต้นออกไปเผาทำลายนอกแปลง ส่วนโรคผลเน่าจากเชื้อแอนแทรคโนส ให้เก็บผลและตัดแต่งกิ่ง ใบ ที่เป็นโรคไปเผานอกแปลงปลูก
หลังเก็บเกี่ยวผลกาแฟตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ยบำรุงต้นเก็บเกี่ยวกาแฟเฉพาะผลสุก 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปที่มีสีแดงและสีเหลือง-เหลืองเข้ม โดยเก็บทีละข้อไม่เก็บแบบรูดสร้างโรงเรือนตากกาแฟและตากกาแฟกะลาบนแคร่ยกสูงมุงหลังคาพลาสติกใสไกลจากถนน จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้โครงการ “กาแฟฟ้าห่มปก มรดกคู่ผืนป่า โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่” ได้รับรางวัลโครงการพิเศษดีเด่น ประจำปี 2566 ระดับดีมาก จากกรมวิชาการเกษตร